Friday, April 26, 2024
More
    Homeท่องปทุมวันแก้ปัญหาคนหาย ด้วยริสแบนด์ หายไม่ห่วง

    แก้ปัญหาคนหาย ด้วยริสแบนด์ หายไม่ห่วง

    มาคุยต่อเรื่องภารกิจในหน้างานของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ที่มีพล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ เป็นผู้บังคับการกันต่อครับ

    ผู้การไตรรงค์บอกว่า กองทะเบียนประวัติอาชญากร ยังทำงานร่วมกับคณะกรรมการคนหายและศพนิรนาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือศูนย์คนหาย ตอนนี้ พล.ต.ท.อรรถชัย ดวงอัมพร ผบช.ประจำตร.เป็นผอ.ศูนย์ฯ

    มอตโต้ของการทำงานศูนย์ของ ตร. คือ พาคนหลงพลัดหายกลับบ้าน ส่งศพนิรนามคืนสู่ครอบครัว  

    จากการที่ออกไปตรวจสอบเรื่องคนหายตามต่างจังหวัด ออกไปหลายที่ ก็ให้แนวทาง คือกำชับเรื่องการปฏิบัติในการรับแจ้ง ท่าน ผบ.ตร.จักรทิพย์  มีคำสั่งเวียนแจ้งไปแล้ว การรับแจ้งคนหาย

    คุณต้องรับแจ้งทันที ถ้าพี่น้องประชาชน ผู้ปกครอง ญาติเขาไปแจ้งคนหาย ไม่ต้องรอครบ 24 ชั่วโมง 5 ชั่วโมง ก็รับแจ้งได้

    คุณต้องวิเคราะห์ดูว่า มีเหตุอันควรให้เชื่อว่าหายตัวไปมั้ย

    เช่น เด็กจะต้องเลิกเรียนบ่าย 3 บ่าย 4 จะต้องถึงบ้าน แต่หายไป 5-6 ชั่วโมง  ผิดสังเกตแล้ว อย่างนี้ต้องรับแจ้ง แล้วต้องสืบสวนทันที อันนี้เราก็ต้องกำชับ
                   
    2.เราต้องให้ความสำคัญกับคดีคนหาย ถึงมันยังไม่เป็นคดีอาญา แต่อาจจะเป็นเหยื่อในคดีอาญา หรือผู้เสียหายในคดีอาญาได้

    เพราะฉะนั้นคุณต้องให้ความสำคัญแล้วรีบดำเนินการสืบสวน ตร.มีการกำหนดระเบียบอยู่แล้ว

    คุณต้องรายงาน ศูนย์คนหาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทุก 7 วัน 15 วัน และ 30 วัน แล้วรายงานต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบตัว หรือสาเหตุ ว่าหายไปเพราะอะไร

    เพราะฉะนั้นเรื่องคดีคนหายไม่มีอายุความ ตำรวจเลิกหาไม่ได้ ต้องหาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอ

    ปัจจุบันยอดคนหาย  มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ต้องทำควบคู่กับหน่วยงานต่างๆ เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญ ยกระดับปัญหา เป็นศูนย์ของรัฐบาลเลย รวมทุกหน่วย

    มีสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นเลขาฯ เป็นศูนย์คนหายและศพนิรนาม

    ก็ทำร่วมกัน เป้าหมายเพื่อที่จะชี้ว่า บุคคลที่สูญหายไปไหน  หรือศพนิรนามเป็นใคร

    ตั้งเป้าคือพาคนหายกลับบ้าน ส่งศพนิรนามคืนสู่ครอบครัว 

    ในการทำงานของเรา จะร่วมกับองค์กรอื่นๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ข้อมูลหลักจะไปรวมศูนย์ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

    แต่ถามว่าช่องทางในการรับข้อมูลที่เยอะที่สุด มาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะหน่วยที่รับแจ้งครั้งแรก  คือสถานีตำรวจ
                   
    รัฐบาลมอบหมายกระทรวงยุติธรรม เป็นเลขาฯ เพื่อรวบรวมทั้งหมด เพราะบางทีไม่ได้มาแจ้งตำรวจ แต่ไปตายที่ รพ.หรือไปพบที่สถานสงเคราะห์เด็ก สงเคราะห์คนชรา หรือป่วยอัลไซเมอร์ ไปอยู่ตาม รพ.ต่างๆ อะไรก็เป็นไปได้

    เลยรวมศูนย์ส่งไปที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม รับเป็นเจ้าภาพ เป็นเลขาฯ 

    อย่างกรณีไปขุดศพ จะมีกลุ่มพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ของสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ต้องไปร่วมปฏิบัติงานด้วย

    ก็มีเจอนะ ถ้าพิสูจน์ได้ ถ้าญาติมีดีเอ็นเอของญาติมาเปรียบเทียบ เขาจะไปเก็บอัตลักษณ์บุคคลมา

    แต่โดยมากพวกนี้ จะทำในกรณีเหตุใหม่ๆ เป็นเหตุภัยพิบัติใหญ่ๆ เช่น เรือล่ม มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ก็ต้องไปทำ ทุกองค์กร ทั้งตำรวจเอง นิติวิทยาศาสตร์ ต้องไปช่วยกันทำ จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล แล้วพิสูจน์ว่าเขาเป็นใคร เป็นงานใหญ่
                   
    อย่างบุคคลสำคัญ แกนนำการเมืองหายตัวไป ถ้าเขาแจ้งมา ต้องไปสืบสวนติดตาม ตามระเบียบ 

    ส่วนการประสานงานกับหน่วยงานเอกชน อย่างเรื่องคนหาย  ประสานงานกับมูลนิธิกระจกเงาเป็นหลัก 

    ตอนนี้ที่เราร่วมกันคือ ทำริสแบนด์ “หายไม่ห่วง” ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา มี ทรู เป็นสปอนเซอร์

    คือ ผู้ที่มีผู้สูงอายุป่วยโรคหลงลืม หรืออัลไซเมอร์ หรือเด็กออทิสติก อยู่ในความดูแล  สามารถลงทะเบียนขอได้  
                  
    ริสแบนด์นี้  จะติดคิวอาร์โค้ด ออกแบบมาให้ผู้ป่วย ไม่สามารถดึงออกได้โดยง่าย

    ในคิวอาร์โค้ด จะเก็บข้อมูลไว้ที่มูลนิธิกระจกเงาตอนไปสมัคร พอผู้ป่วยสวมใส่ออกจากบ้าน ไม่มีใครรู้ว่าเป็นผู้ป่วย ตรงนี้เราประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับรู้ เยอะเท่าไหร่ยิ่งดี  

    ริสแบนด์นี้มันมีลักษณะพิเศษ  มีตราสัญลักษณ์ของโครงการ หายไม่ห่วง ที่สำคัญ มีคิวอาร์โค้ด สีเหลือง เห็นปุ๊บ คุณรู้เลยว่าเป็นผู้ป่วย
                   
    คุณสามารถโหลดแอพ ไทยมิสซิ่ง แล้วไปสแกนที่คิวอาร์โค้ด  มันจะส่งเรียลไทม์ โลเคชั่น ไปที่มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบ ดูแลข้อมูล

    มูลนิธิกระจกเงา จะประสานไปกับญาติ ตามที่ลงทะเบียนไว้  จากนั้นประสานกับตำรวจท้องที่ให้ไปรับตัวผู้ป่วย
                   
    โครงการนี้เริ่มแล้ว  มีผู้ลงทะเบียนประมาณ 700 ท่าน เบื้องต้นนำร่อง 1,000 เส้น เป้าหมายคือประสานไปที่ รพ.ไปที่ผู้ป่วยก่อน

     700 คน เหมือนว่าเยอะ แต่จริงๆ คนป่วยในประเทศไทยมีเยอะกว่านั้น อยากให้ใส่กันเยอะๆ เพราะเวลาหายแล้วตามหาง่าย

    ริสแบนด์ออกแบบดูสวยงาม ไม่เกะกะ กันน้ำได้ เหนียว การยืด การหดตัวดี เห็นปุ๊บรู้เลย โดยเฉพาะตำรวจ  ใช้แอพไทยมิสซิ่งสแกนคิวอาร์โค้ด ข้อมูลผู้ป่วย มูลนิธิกระจกเงา เขาจะรู้เลย  

    ตอนนี้จะประสานทรู ผลิตต่อ บ้านไหนที่มีผู้ป่วยสูงอายุ มีเด็กออทิสติกติดต่อลงทะเบียน ก็ที่มูลนิธิกระจกเงาหรือที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร ก็ได้

    ไม่ใช่แค่ริสแบนด์ ยังมีโครงการดี เรื่องดีๆอีกหลายเรื่องที่ทำโดยกองทะเบียนประวัติอาชญากร

    วันหน้าจะพาไปเจาะลึกเรื่องดีๆใน ทว.กันต่อครับ

    กากีกลาย23/6/62

     

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments