Saturday, April 27, 2024
More
    HomeCheck in This Place‘เค้กในตำนานสูตรป้าเกล็น’

    ‘เค้กในตำนานสูตรป้าเกล็น’

     

    ครั้งแรกที่บอกกับเพื่อนสนิทว่า จะไปเที่ยวบ้านอีต่อง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

    เพื่อนพูดถึงถนนหนทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อที่ทำให้เธอในฐานะสารถีบ่นพี่สาวที่สั่งให้เธอขับรถไปให้

    จากนั้นก็บอกว่าให้กินขนมเค้กป้าเกล็นให้ได้ และก่อนวางสายยังย้ำว่าอย่าลืมกินเค้กป้าเกล็น

    ยอมรับว่าคนจะไปเที่ยวภูเขารู้สึกงงไปนิดหน่อยค่ะ

    ในใจคิดว่าทำไมฉันต้องไปกินเค้กบนภูเขาด้วย ในกรุงเทพฯร้านอร่อยก็ตั้งเยอะแยะ แต่เพื่อนก็สายกินของอร่อยเหมือนกันค่ะ เค้กป้าเกล็นมีดีตรงไหนเลยต้องไปพิสูจน์ค่ะ

    เราอ่านประวัติของป้าเกล็น หรือ เกล็นนิส เจอร์เมน เสตะพันธุ ชาวออสเตรเลีย แต่งงานกับ สมศักดิ์ เสตะพันธุ เจ้าของเหมืองแร่สมศักดิ์ที่ต่อมาปิดตัวลง เปิดเป็น โฮมสเตย์บ้านเล็กในป่าใหญ่ เอาไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยว

    แต่เนื่องจากป้าเกล็นอายุ 89 ปีแล้ว ไม่สามารถดูแลนักท่องเที่ยวได้ ต้องหยุดกิจการโฮมสเตย์เอาไว้ก่อน

    แม้ว่าโฮมสเตย์จะปิด แต่ปัจจุบันขนมเค้กโบราณสูตรป้าเกล็น ยังมีให้ลิ้มลองอยู่ค่ะ ขายอยู่ร้านชาวเหมือง หมู่บ้านอิต่อง

    ภารกิจแวะชิมเค้กโบราณสูตรป้าเกล็น ถูกจัดไว้เป็นหนึ่งในโปรแกรมห้ามพลาดเมื่อมาถึงบ้านอีต่องค่ะ

    ที่ร้านมีขนมเค้กโฮมเมดหลายอย่าง ทั้งเค้กกล้วยน้ำว้า เค้กแครอท เค้กช็อคโกแลต เค้กส้ม เค้กกาแฟ เค้กทุเรียน(ตามฤดูกาล)

    รวมถึงคุกกี้โฮมเมด รสบัตเตอร์และรสช็อกโกแลต

    เราจัดเค้กกล้วยน้ำว้า เค้กแครอท เค้กช็อกโกแลต เค้กทุเรียน มาลองค่ะ ไม่รู้ว่าสั่งเยอะไปไหม แต่กิน3คนหมดเกลี้ยงค่ะ 55

    นุ่ม หอม อร่อย ไม่หวานจนเกินไป ละมุนเลยค่ะ ไม่เสียแรงที่จัดไว้เป็นหนึ่งในโปรแกรมที่ห้ามพลาดจริงๆ

    ในใจคิดขอบใจเพื่อนเลย ถ้าเพื่อนไม่บอกก่อน ร้านนี้อาจเป็นแค่ทางผ่านค่ะ

    ที่ร้านนี้เราเจอ พี่ประเทือง มูลสูตร สาวใหญ่วัยกลางคน เป็นคนดูแลร้าน และเป็นคนทำขนมเค้กโฮมเมดทั้งหมดที่ตั้งขายอยู่ในร้าน

    ด้วยความอยากรู้ที่มาที่ไปของสูตรอร่อย และพี่ประเทือง เอาสูตรขนมเค้กโบราณป้าเกล็นมาทำขายได้ยังไง ต้องถามไถ่ให้ได้ความค่ะ

    พี่ประเทือง เล่าว่า ร้านขนมเค้กโบราณ มีมา 40กว่าปีแล้ว เป็นเค้กในตำนาน

    เริ่มแรกอยู่ในเหมืองสมศักดิ์ พอถนนไม่ดี ฝนตก คนลงไปไม่ได้ ลูกค้าเรียกร้องให้มาขาย ก็เลยมาขายที่ตลาดบ้านอีต่องเมื่อ 10 ปีก่อน

    ต่อมาย้ายมาเปิดเป็นร้านที่นี่ อยู่ตรงทางเข้าบ้านอีต่อง เปิดมาได้ 8 ปีแล้ว

    สูตรขนมเค้กมาจากออสเตรเลีย เจ้าของสูตรก็คือป้าเกล็น เป็นชาวออสเตรเลีย

    ส่วนเราเป็นแม่บ้านอยู่กับป้าเกล็นมาตั้งแต่เด็กๆ ป้าเกล็นสอนสูตรให้ เราก็ช่วยทำเป็นลูกมือมาตลอด

    เดิมทีเค้กโบราณ ป้าเกล็นจะทำให้คนที่มาประชุมเหมืองแร่ทานกัน ปีใหม่ คริสต์มาส ก็ทำทานกัน

    แต่พอเลิกทำเหมืองแร่ประมาณ 30 กว่าปีแล้ว ก็มาทำขาย โดยเปิดเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวมาพักผ่อนที่เหมืองแร่ด้วย ก็จะให้นักท่องเที่ยวทานและทำขายด้วย”

    พี่ประเทืองเล่า

    พี่ประเทือง บอกด้วยว่า เบเกอรี่สูตรป้าเกล็นเป็นแบบโฮมเมด ใส่เนยสด ไม่ใส่มาการีน ไม่ใส่สารกันบูด เราจะเน้นคุณภาพ ใช้แป้งอย่างดี เนยอย่างดี

    เนย1ลังก็ราคาหลักพันแล้ว เราจะอนุรักษ์สูตรนี้เอาไว้

    ที่จริงเค้กสามารถปรับเปลี่ยนสูตรเพื่อขายให้ได้กำไรเยอะๆ แต่ป้าเกล็นไม่ยอม เราเคยแอบทำสูตรของป้าเกล็นเปรียบเทียบกับสูตรที่เราปรับมาแล้ว

    ก่อนมาวางขายป้าเกล็นจะมาชิมก่อน อันนี้ของฉัน อันนี้ไม่ใช่ของฉัน ป้าเกล็นก็จะสั่งห้ามเอาอันอื่นมาปน ต้องอนุรักษ์ของฉันเอาไว้

    ตั้งแต่นั้นเราก็ไม่ทำกัน ทำแต่เค้กโบราณของป้าเกล็นมาตลอด

    ดั้งเดิมจะมีเค้ก 3 แบบ ที่เป็นออริจินัล มีเค้กกล้วยน้ำว้า เค้กแครอท เค้กช็อกโกแลต ปัจจุบันครีเอทรสชาติเพิ่มขึ้นมา แต่ใช้วัตถุดิบเหมือนเดิม

    จะมีเค้กส้ม ฟรุตเค้ก เค้กกาแฟ เค้กทุเรียน เค้กอัญชัน โดยเค้กทุเรียนกับเค้กอัญชันจะทำเฉพาะช่วงเทศกาล เพราะเก็บไว้ได้แค่ 2 วัน

    ถ้าทำนอกเทศกาลอาจขายไม่หมด ทำให้เสียของ ที่ร้านขายได้เรื่อยๆ จะทำใหม่ๆทุกวัน ทำเรื่อยๆ อันไหนจะหมดก็ทำเพิ่ม อันไหนไม่หมดเราก็หยุดก่อน”คุณประเทืองเล่า

    ระหว่างพูดคุยกัน สังเกตเห็นรูปภาพคุณประเทืองทูลเกล้าฯถวายเค้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใส่กรอบติดไว้บนฝาผนัง จึงถามไถ่คุณประเทืองได้ความว่า

    ป้าเกล็นเคยทำเค้กถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนพระองค์ท่านเสด็จฯมาที่โรงเรียน ตชด. ท่านทรงโปรดเค้กช็อกโกแลต จะถามหาช็อกโกแลต

    ได้ลิ้มลองเค้กโบราณสูตรป้าเกล็น เค้กในตำนานเหมืองสมศักดิ์ เราให้ 3 ผ่านเลยค่ะ

    ไปบ้านอีต่อง ต้องแวะชิมกันให้ได้นะคะ รับรองไม่ผิดหวัง ^^

    ปร์วีร์29/11/63

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments